เมื่อแบงค์ไทย เข้าซื้อแบงค์อินโดฯ
.
เปิดความลับ แกะรอย…
ทำไมธนาคาร กสิกรไทย VS กรุงเทพ จึงซื้อธนาคารอินโดฯ
==========================
.
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักธุรกิจธนาคารกันก่อนครับ
.
ธุรกิจธนาคารอย่างที่ทุกๆคนทราบกันดีว่า
ทำมาหากินด้วยการ กู้ดอกเบี้ยถูก มาปล่อยกู้ดอกแพงขึ้น
และกินส่วนต่างดอกเบี้ย ที่เรียกว่า ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin เรียกกันสั้นๆว่า NIM ครับ
.
ทีนี้ ในเมืองไทยนั้นมีธนาคารขนาดใหญ่อยู่ 4 ธนาคาร คือ
กสิกรไทย (KBANK), ไทยพาณิชย์ (SCB), กรุงเทพ (BBL) และ กรุงไทย (KTB)
ซึ่งแต่ละธนาคารมีกลยุทธ์ และลูกค้าเป้าหมายหลักที่แตกต่างกันไปครับ โดยที่
.
– KBANK นั้นเน้นกลุ่มลูกค้า SMEs เป็นหลักครับ
– SCB เน้นลูกค้ากลุ่มพนักงานประจำ เป็นหลัก ในช่วงแรกจึงมีตู้ ATM และสาขา มากที่สุดกว่าทุกธนาคาร เพื่อเพิ่มความสะดวก
– BBL เน้นลูกค้า Corporate ใหญ่ๆ ปล่อยกู้ลูกค้าไม่กี่ราย ก็เต็มพอร์ตแล้ว
– KTB เน้นลูกค้าที่เป็นข้าราชการ เนื่องจากข้าราชการทุกคนจะได้รับเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงไทยเท่านั้น
.
แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว 2562 ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL
นั้นได้ทำการซื้อหุ้น ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค
หรือ Permata Bank ธนาคารใหญ่อันดับ 12 ของประเทศอินโดฯ
โดยมีความต้องการจะซื้อหุ้นทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 9 หมื่นล้านบาท
.
ในขณะที่ธนาคารกสิกรไทย หลังจากเคยซื้อหุ้นบางส่วน
ของธนาคารแมสเปี้ยน ประเทศอินโดฯ เมื่อปี 2560 เช่นเดียวกัน
ล่าสุดวันที่ 15 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ก็มีข่าวออกมาว่า
ธนาคารกสิกรไทยได้ลงทุนซื้อหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน เต็มเพดาน 40%
ด้วยเงินลงทุนรวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
.
ทีนี้เรามาดูกันหน่อยว่ารายได้ VS กำไร ของทั้ง 2 ธนาคารเป็นอย่างไร
.
KBANK BBL
===== ====
รายได้ (ลบ.)
2559 178,839 140,920
2560 180,426 147,363
2561 182,232 154,266
2562 185,002 158,311
.
จะเห็นได้ว่ารายได้ของธ.กสิกรไทยมีอัตราการเติบโตเพียง 1% ต่อปีแบบทบต้น
ในขณะที่รายได้ธ.กรุงเทพนั้นมีอัตราการเติบโตประมาณ 4% ต่อปีแบบทบต้น
.
มาดูส่วนของกำไรกันบ้างครับ
.
KBANK BBL
===== ====
กำไรสุทธิ (ลบ.)
2559 40,174 31,815
2560 34,338 33,009
2561 38,459 35,330
2562 38,727 35,816
.
จะเห็นได้ว่ากำไรสุทธิของธ.กสิกรไทยนั้น ลดลงมาในปี 2560
ก่อนจะปรับตัวขึ้นมาทรงตัวใน 2 ปีล่าสุด น่าจะมาจากการ
เสียรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต ผ่านการทำธุรกรรม
ผ่าน Mobile Application อย่าง K-Plus
ในขณะที่ธ.กรุงเทพสามารถทำกำไรได้เติบโตไม่มากนัก
และทรงตัวใน 2 ปีล่าสุดเช่นกัน
.
ทำไมธนาคารหลายๆแห่งถึงได้มีกำไรที่ทรงตัวเรามาดูสาเหตุกันครับ
สาเหตุหลักน่าจะมาจากเศรษฐกิจรวมของประเทศนั้น
อยู่ในสภาวะเติบโตช้า โดยดูจาก GDP Growth Rate ของไทยนั้น
อยู่ในระดับเพียง 2%-4% มาต่อเนื่องหลายปี ซึ่งธุรกิจหลักของธนาคารคือการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไป เมื่อเศรษฐกิจรวมเติบโตในระดับต่ำ จึงทำให้
ธุรกิจธนาคารมีอัตราการเติบโตที่ต่ำไปด้วย
.
และหากจะมองให้ลึกลงไป ก็น่าจะมีสาเหตุมาจากที่
โครงสร้างประชากรของไทยนั้น กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
หรือ Aging Society อย่างเต็มตัว แปลว่าไทยจะมี
ประชากรที่เป็นวัยทำงาน ลดลง และมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
อย่างมีนัยยะสำคัญ
.
และปี 2562 ก็ยังเป็นอีกปีนึงที่อัตราการเกิด ต่ำกว่า อัตราการตาย
ทำให้เป็นปีแรกในรอบหลายสิบปี ที่ไทยนั้นมีประชากร “ลดลง”
ซึ่งอัตราการเกิดลดลงก็น่าจะเนื่องจากประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น
ทำงานหนักขึ้น และต้องการให้ลูกที่เกิดมามีคุณภาพมากขึ้น
จึงทุ่มเททรัพยากรไปกับการเลี้ยงดูลูกน้อยคน
.
อีกทั้งสังคมยังมีค่านิยมที่เปลี่ยนไป เช่น เป็นโสดก็ได้ หรือ อยู่เป็นคู่ก็พอแล้วไม่ต้องการมีลูก เป็นต้น
.
และประกอบกับการแพทย์พัฒนาขึ้นทำให้คนมีอายุยืนขึ้น
.
ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจึงลดลงเนื่องจากขาดแรงงาน
สังเกตได้จากอัตราการว่างงานในประเทศไทยนั้น อยู่ในระดับต่ำ
มาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่ 1% เท่านั้น
.
ด้วยสาเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลหลักให้ธนาคารของไทย ที่ต้องการขยายกิจการ จึงต้องเลือกลงทุนในธนาคารต่างประเทศ โดยมีเหตุผลดังนี้
.
1. ประเทศอินโดฯ นั้น มีประชากรที่มีอายุเฉลี่ย เพียง 29.7 ปี เทียบกับไทยที่ 40.1 ปี นั่นแปลว่า ประเทศอินโดฯจะอยู่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อีกยาวนาน
.
2. จำนวนประชากรอินโดฯ นั้นมีมากถึงเกือบ 273 ล้านคน เทียบกับไทยที่ 69.8 ล้านคน นั่นหมายถึงเค้กก้อนใหม่นี้ใหญ่กว่าเดิม ก็เท่ากับสามารถเพิ่มโอกาสให้กับทั้งสองธนาคารอีกมาก
.
3. เศรษฐกิจอินโดฯ ยังเติบโตในระดับสูงต่อเนื่องได้อีกหลายปี โดยใน 5 ปีหลังสุด นั้นมี GDP Growth เฉลี่ย มากกว่า 5% และยังมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอีกด้วย
.
4. อัตราการขอสินเชื่อของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับไทย ที่ 36% : 80% ก็เท่ากับว่าประชาชนยังกู้เพิ่มได้มากกว่านี้อีกเท่าตัวเลย
.
5. ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีในการเข้าซื้อ เนื่องจากอุตสาหกรรมธนาคารมีราคาที่ถูกลงมาก
.
6. เมื่อซื้อแล้ว จะได้กำไรเพิ่มเข้ามาทันที และนี่เป็นอีก 1 กลยุทธ์ในการเพิ่มการเติบโตที่รวดเร็ว เนื่องจากธนาคารที่เข้าซื้อนั้นมีกำไรอยู่แล้ว ทำให้กำไรรวมของทั้งสองธนาคารสามารถเพิ่มขึ้นได้ทันที
.
7. กลยุทธ์หลักของธนาคารที่เข้าซื้อนั้น มีกลยุทธ์สอดคล้องกันกับกลุยทธ์ในเมืองไทย ทำให้สามารถใช้ความเชี่ยวชาญได้อย่างเต็มที่
.
สรุป
—–
ผมคิดว่าน่าจะเป็นก้าวที่สำคัญของธนาคารของไทย
ในการขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศ
เพื่อสร้างทั้งการเติบโตที่ต่อเนื่อง
และกระจายความเสี่ยงที่ดีครับ
.
.
ที่มา : Worldbank.org, infoquest.co.th