นกสกู๊ต “เลิกกิจการ” #หรือหุ้นท่องเที่ยวจะฟุบนานกว่าที่คิด

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา
ทาง บมจ. สายการบินนกแอร์
ได้แจ้งข่าวกับทางตลาดหลักทรัพย์
ว่าได้มีการ “เลิกกิจการ” ของสายการบินนกสกู๊ต

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันครับว่า “นกสกู๊ต” คือใคร 
เกี่ยวกับ “นกแอร์” ยังไง

ในอดีตที่ผ่านมา “นกสกู๊ต” ให้บริการเที่ยวบินไปต่างประเทศ
เช่น จีน, ไทเป, ญี่ปุ่น และอินเดีย 
ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วง COVID 
ที่มีคำสั่งหยุดบินระหว่างประเทศ 
เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนั่นเอง

“นกสกู๊ต” นั้นก่อตั้งในปี 2557 เป็นบริษัท “ร่วมทุน” ระหว่าง “นกแอร์” กับ “สกู๊ต” (Scoot) สายการบินราคาประหยัดจากประเทศสิงค์โปร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Singapore Airlines 

Tips | สายการบิน Scoot มีสีโลโก้เป็น “สีเหลือง” เหมือนกับ “นกแอร์” 

โดย “นกสกู๊ต” นั้นมีรายได้ และ กำไร (ขาดทุน) ที่ผ่านมาดังนี้

ปี รายได้ กำไร(ขาดทุน)
2558 953 ลบ. ขาดทุน 1,223 ลบ.
2559 3,905 ลบ. ขาดทุน 612 ลบ.
2560 5,580 ลบ. ขาดทุน 48 ลบ.
2561 5,829 ลบ. ขาดทุน 1,528 ลบ.
2562 7,207 ลบ. ขาดทุน 1,352 ลบ.

แม้รายได้จะเติบโตได้ค่อนข้างดี 
แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง 
ประกอบกับต้นทุนหลักคือ น้ำมันเชื้อเพลิง
ที่มีสัดส่วนสูงมากถึงกว่า 40% 
ทำให้สายการบินราคาประหยัด (Low cost Airlines) 
อยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก 
ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19
และเหตุการณ์แพร่ระบาดนี้ ก็ยังมองไม่เห็นจุดจบ
ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ในเมื่อเร็วๆนี้ ในประเทศต่างๆ
ได้พบการแพร่ระบาดรอบใหม่ขึ้นอีกครั้ง

ที่มา | ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

===========================

ความเห็น
======

*** นี่เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคล
ไม่สามารถรับรองความถูกต้อง
และไม่มีเจตนาในการแนะนำหุ้นแต่อย่างใด ***

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 
ในประเทศไทยจะดูไม่น่าเป็นห่วง 
เนื่องจากมีการประกาศปลอดคนติดเชื้อ (ไม่นับคนกลับจากต่างประเทศ)
ต่อเนื่องกันมาเดือนกว่าแล้ว

สวนทางกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 
ในระดับโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วงมาก
เนื่องจากตอนนี้มีคนติดเชื้อมากกว่า 10 ล้านคนแล้ว
และตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ยังพุ่งสูงขึ้นมากอย่างน่ากลัว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ

1. ต่างประเทศมีปัญหาผู้ติดเชื้อสูง จะยิ่งทำให้ประเทศไทย รับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้ ซึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีมูลค่าสูงมากถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาท ต่อปี (กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา)
ซึ่งมีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจไทยสูงมากถึง 12% และเหตุการณ์นี้จะกระทบไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2020 นี้ค่อนข้างแน่นอนแล้ว ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ท่องเที่ยว” จะยังได้รับผลกระทบไปอีกพักใหญ่ๆ และก็ยังมองไม่ออกว่าจะจบลงเมื่อไหร่ สิ่งที่กระทบต่อมาคือ สภาพคล่องของธุรกิจเหล่านี้จะทนไหวถึงเมื่อไหร่ ในฐานะนักลงทุน เราคงต้องติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดมากๆครับ

2. หากต่างประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 อย่างหนัก ย่อมส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นโดยตรง ซึ่งหากต่างประเทศมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการะบริโภคสินค้าด้วยเช่นกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นก็จะส่งผลกระทบถึงสินค้าส่งออกของไทย ด้วยเช่นกัน ดังนั้นธุรกิจที่มีการส่งออกสินค้าจากไทย จะได้รับผลกระทบทั้งที่ดี และไม่ดี เช่น สินค้าจำเป็น เช่น อาหาร, สิ่งจำเป็นต่อการป้องกันเชื้อโรค, สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับ work from home จะเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบที่ดี ตรงข้ามกับสินค้าในกลุ่ม Durable Product / Luxury Product หรือสินค้าคงทน และสินค้าฟุ่มเฟือย ที่อาจจะมีการลดความต้องการลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

3. ธุรกิจในประเทศจะดีมาก ในเมื่อเราไม่สามารถเที่ยวต่างประเทศได้ ดังนั้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเราเองจะได้รับการสนับสนุนอย่างมากแน่นอน และธุรกิจที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ น่าจะฟื้นตัวได้ดีที่สุดในความเห็นของผม เช่น ค้าปลีก, ธุรกิจที่พึ่งพาระบบ Online, ธุรกิจท่องที่ยวกลุ่มที่พึ่งพาลูกค้าในประเทศ เช่น โรงแรม 2-4 ดาว เป็นต้น 

3.1 แต่อีกประเด็นที่เราต้องประเมินเพิ่มเติม ในเรื่องธุรกิจภายในประเทศ ก็คือ บางกิจการอาจจะมีธุรกิจอยู่หลายประเทศ แต่เน้นการบริโภคภายในประเทศนั้นๆเป็นหลัก ก็ย่อมได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน 

#ลงทุนกล้วยๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Protected by CleanTalk Anti-Spam